ปลามังกร พาโชคลาบ เป็นศิริมงคล

 

ที่มาลักษณะ และถิ่นที่อยู่ของปลามังกร

            ในเมืองไทยได้มีชื่อเรียกปลามังกรต่างกันออกไป เช่น ภาคตะวันออก เรียกว่า “ตะพัด” ทางใต้ เรียกว่า “หางเข้” ส่วนที่ต่างประเทศ ทางอินโดนีเซีย เรียกว่า “อาร์วานาอาเซีย หรือ ซีลุกเมระฮ์” แต่โดยทั่วไปจะรู้จักกันในชื่อ ปลามังกร หรือชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า อโรวานา (Arowana) ซึ่งชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Scleropages formosus และ จัดอยู่ในตระกูล ปลาตะพัด (Osteoglossidae) ปลาชนิดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในไทย เมื่อปี พ.ศ.2474 ที่ ลำน้ำเขาสมิง จังหวัดตราด

            ปลามังกร หรือ ปลาอโรวานา เป็นปลาน้ำจืดที่สืบเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และมีวิวัฒนาการแค่เพียงเล็กน้อยนับจาก 140 ล้านปีก่อน ลักษณะโดดเด่นของปลามังกรอยู่ที่ รูปร่างยาวเรียว ลำตัวแบนคล้ายมีด ดวงตาโต เกล็ดทั้งใหญ่ หนา และเรียงกันเรียบเป็นระเบียบ จำนวนเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัวมี 21-24 เกล็ด ลวดลายบนเกล็ดเหมือนตาข่าย ปากกว้างเฉียงขึ้นด้านบน มีฟันแหลม ครีบหลังยาว ครีบก้นยาวและตั้งค่อนไปทางปลายหาง ครีบหางค่อนข้างกลม มีหนวดอยู่ใต้คางใกล้ปาก ท้องเป็นสันและแคบ ปลาที่โตเต็มวัยจะมีความยาวประมาณ 1 เมตร และน้ำหนักมากกว่า 7 กิโลกรัม

ถิ่นที่อยู่เดิมตามธรรมชาติของปลามังกรจะอาศัยในแม่น้ำที่ใสสะอาด ลักษณะอุปนิสัยตามธรรมชาติค่อนข้างจะดุร้าย ก้าวร้าว ขี้ตกใจ หวงถิ่น ชอบหากินแบบเดี่ยวๆ ล่าเหยื่อบนผิวน้ำ และอาศัยเพียงลำพัง จะอยู่เป็นคู่ต่อเมื่อถึงฤดูวางไข่หรือเลี้ยงดูลูก แล้วถ้าจะอยู่เป็นฝูงก็ไม่เกิน 3-5 ตัว อาหารที่ชอบ ได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็ก แมลง สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก

ปลาชนิดนี้มีกระจายอยู่ใน 4 ทวีป  ซึ่งแบ่งได้ 4 สกุล (Genus) และ 7 ชนิด (Species) ได้แก่ ทวีปเอเซีย 1 ชนิด (4 สายพันธุ์) ทวีปอเมริกาใต้ 3 ชนิด ทวีปแอฟริกา 1 ชนิด และทวีปออสเตรเลีย 2 ชนิด ปลาในแต่ละทวีปจะมีรูปร่างที่พิเศษแตกต่างกันไป ปลามังกรจากทวีปเอเซียจะมีราคาค่อนข้างสูงที่สุด สำหรับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียใต้ จะพบได้ในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา ซึ่งในเมืองไทยได้เชื่อกันว่ามีเหลืออยู่ที่ต้นแม่น้ำตาปี บริเวณ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง” กับ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน” จังหวัดสุราษฏร์ธานี และบริเวณแม่น้ำ ในอำเภอละงู จังหวัดสตูล เท่านั้น

        

สายพันธุ์ปลามังกรที่นิยมในปัจจุบันมีอะไรบ้าง

สายพันธุ์ของปลามังกรแบ่งออกได้ตาม 4 ทวีป ดังนี้

ปลามังกร หรือ อโรวาน่า จากทวีปเอเซีย

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Scleropages Formosus รูปร่างจะค่อนข้างป้อมสั้น ในกลุ่มผู้ชอบเลี้ยงปลาจะเป็นปลาที่ได้รับความนิยมมากและมีราคาแพงที่สุด น่าจะเป็นเพราะสีสันโดดเด่น สวย โดนใจ โดยสายพันธุ์จากทวีปเอเซีย ได้แก่

ปลามังกรทองมาเลย์ หรือ อโรวาน่าทองมาเลย์ (Cross Back Arowana) สายพันธุ์นี้สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศมาเลเซียจึงมีชื่อเรียกตามแหล่งที่พบ เช่น ปาหังโกลด์ มาลายัน โบนีทัง บูกิทมีราสบลู และไทปิงโกลด์เดน สายพันธุ์นี้เกล็ดจะมีความแวววาว เงา และสว่างสุกใส ขณะกระทบกับแสงไฟ แถมลีลาท่วงท่าการว่ายน้ำก็งดงามดั่งมังกร เพราะแบบนี้จึงสายพันธุ์ที่มีราคาแพงที่สุด แล้วยังเป็นพันธุ์ที่ให้ลูกน้อย และตามธรรมชาติก็หาได้ค่อนข้างจะยาก ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงทั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์ สายพันธุ์ปลามังกรทองมาเลย์ แบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ

  • สายพันธุ์ Blue or Purple Based ที่ฐานเกล็ดจะมีสีออกสีน้ำเงินหรือม่วง  สีวงในเกล็ดเข้มละอองดำกระจายไปทั่ว ขอบเกล็ดมีสีทองบางๆ เมื่อส่องกระบแสงเกล็ดจะมีสีเหลือบฟ้า น้ำเงินหรือม่วงเข้ม ซึ่งจะสามารถเห็นได้ในปลารูปร่างขนาดกลาง ส่วนบางตัวที่โตมากขึ้นละอองดำในเนื้อเกล็ดจะค่อยหายไปเป็นสีออกสีทอง หรือ Gold Based
  • สายพันธุ์ Gold Based ที่ฐานเกล็ดจะมีสีออกสีทอง เกล็ดจะมีสีทอง เงาและสว่าง ซึ่งโดยรวมจะมีสีทองหรือทองเข้มทั่วเกล็ด ตรงฐานเกล็ดอาจจะมีสีอื่นแซมได้ เกล็ดแถว 6 บนสุดจะมีเกล็ดที่ยังเปิดไม่หมด แต่จะเปิดครบเมื่อปลามีอายุมากขึ้น
  • สายพันธุ์ Green Based ที่ฐานเกล็ดจะมีสีออกสีเขียว เกล็ดจะมีลักษณะเช่นเดียวกับ สายพันธุ์ Blue Based คือ สีวงในเกล็ดจะเข้มละอองดำ กระจายทั่วเกล็ด ขณะกระทบแสงไฟเกล็ดจะมีสีเหลือบเขียว หรือเขียวเข้ม และขอบเกล็ดมีสีทองบางๆ
  • สายพันธุ์ Full Gold ลักษณะเกล็ดจะมีสีทอง ที่ฐานเกล็ดจะไม่มีละอองสีอื่นแซมเลย จะดูเป็นสีเหลืองทองทั้งตัวไม่ว่าจะที่แผ่นหลังหรือเกล็ดละเอียดแถมยังจะมีความเงาด้วย มองแล้วเหมือนปลาทองคำ จัดเป็นปลามังกรทองมาเลย์ที่งดงามมาก
  • สายพันธุ์ Golden Head เป็นสายพันธุ์ที่มีการพัฒนาให้มีสีทองทั่วทั้งตัว บริเวณหัวปลาจะมีความพิเศษคือ มีสีทองหรือแผ่นละอองทองทั่วทั้งหัว



  • ปลามังกรทองอินโด หรือ อโรวาน่าทองอินโด (Red-tailed Golden Arowana) เป็นสายพันธุ์ยอดนิยมอีกชนิดหนึ่ง เมื่อก่อนปลาชนิดนี้จะมีเกล็ดสีทองตั้งแต่บริเวณท้องจนถึงเกล็ดแถวที่ 4 แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์โดยการผสมกับสายพันธุ์ทองมาเลย์ เช่นนั้นจึงทำให้เกล็ดของปลามังกรทองอินโดเปิดสูงมากขึ้น บางตัวอาจจะมีเกล็ดเปิดไปจนถึงแถวที่ 6 ลักษณะของเกล็ดมีสีทองเข้ม แวววาวคล้ายทองเหลืองขัดเงา ปลาบางตัวเกล็ดจะมีขอบบางหรือขอบหนา หรืออาจจะมีสีทองทั้งเกล็ด และครีบมีขนาดใหญ่


ปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง (Red Arowana) เป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นตรงที่เกล็ดมีสีแดงและมีขนาดใหญ่ ครีบค่อนข้างจะใหญ่ และขนาดตัวก็จะใหญ่ด้วย  ส่วนมากปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง ที่ขายในเมืองไทยจะมาจากหลายแหล่งน้ำทางตะวันตกของกัลลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งลักษณะแนวสันหลังมีสีน้ำตาล เกล็ดลำตัวอยู่ค่อนไปทางด้านหลังและมีสีเขียวอมน้ำตาล เกล็ดด้านข้างลำตัวมีสีเขียวเหลือบแดง หรือสีแดงอมส้ม ส่วนท้องและแผ่นปิดเหงือกมีสีแดงหรือแดงอมส้ม ครีบอกและครีบท้องจะมีสีเขียว ปลายครีบมีสีแดงหรือแดงอมส้ม ริมฝีปากก็จะมีสีเหมือนปลายครีบ ปลาสายพันธุ์นี้แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่

  • สีแดงเลือดนก (Blood Red) ปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง ประเภทนี้เกล็ดจะมีสีแดงเข้มทั่วทั้งเกล็ด ฐานเกล็ดอาจจะมีสีอื่นแซมได้แต่ไม่มากนัก
  • สีแดงพริก (Chili Red) ปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง ประเภทนี้ขอบเกล็กจะมีสีแดงเข้ม ฐานเกล็ดมีสีอื่นแซม อย่างเช่น สีน้ำเงินหรือสีเขียว  
  • สีแดงส้ม (Orange Red) ปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง ประเภทนี้เกล็ดจะมีสีแดงจางๆ หรือสีส้มเข้ม
  • สีแดงอมทอง (Golden Red) ปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง ประเภทนี้เกล็ดจะเป็นสีทองอมแดง ส่วนหางกับครีบทั้งหมดจะเป็นสีแดงสด


ปลามังกรเขียว หรือ อโรวาน่าเขียว (Green Arowana) ปลาสายพันธุ์นี้จะพบกระจายอยู่ในประเทศ มาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งจะพบในแถบจังหวัดจันทบุรี ตราด ปลามังกรเขียวจะมีลักษณะขนาดลำตัวใหญ่ ด้านหลังมีสีเขียวอมน้ำตาล หรือสีเทาอมเขียว เกล็ดด้านข้างของลำตัวจะมีสีเงินหรือเงินเหลือบเขียว ครีบจะมีสีน้ำตาลอมเขียว


ปลามังกรบาติก หรือ อโรวาน่าบาติก หรือ ปลาตะพัดลายงู (Batik Myanmar Arowana) เป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ.2536 พบที่พื้นที่ป่าดิบแถวแม่น้ำตะนาวศรีบริเวณรอยต่อระหว่างไทยและพม่า ปลาชนิดนี้มีลักษณะเหมือนปลาตะพัดทั่วไป แต่มีลักษณะแตกต่างที่ชัดเจนตรงที่จะมีลวดลายขดบนตัวตั้งแต่แผ่นปิดเหงือกไปจนถึงหาง ซึ่งเรียกกันว่า “ลายงู” ลวดลายจะสมบูรณ์ที่สุด เมื่อปลามีขนาดลำตัวประมาณ 20 นิ้วขึ้นไป สีบนตัวจะมีสีเขียวหรือทองอ่อน  

ปลามังกร หรือ อโรวาน่า จากทวีปอเมริกาใต้

ชาวพื้นเมืองจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า ลิงน้ำ (Water Monkey) เป็นเพราะลักษณะอาการกระโดดกินแมลงที่เกาะบนกิ่งไม้ หรือเหนือผิวน้ำ นั่นเอง ปลามังกร หรือ อโรวาน่า จากทวีอเมริกาใต้ มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่

ปลามังกรเงิน หรือ อโรวาน่าเงิน (Silver arowana) แหล่งกำเนิดอยู่ในลุ่มน้ำอเมซอน ที่ จิอานา (Guiana) อเมริกาใต้ ลักษณะลำตัวยาวและแบน ปากกว้างมาก เกล็ดมีขนาดใหญ่ บนเกล็ดจะมีจุดสีแดงและมีความแวววาว ลำตัวมีสีเงินอมเทาหรือน้ำเงินอมเขียวยามกระทบแสงแดด บางตัวอาจจะมีสีขาวคล้ายหิมะ หนวดมีสีน้ำเงินหรือฟ้าน้ำทะเลและมีขนาดใหญ่ยื่นออกจากริมฝีปากด้านล่าง 1 คู่ ช่วงลำคอมีสีส้มหรือส้มอมแดง ครีบบนกับครีบล่างมีลักษณะยาวตลอดแนวลำตัวส่วนท้าย ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์นี้ได้แล้ว

ปลามังกรดำ หรือ อโรวาน่าดำ (Black Arowana) สายพันธุ์นี้พบกระจายอยู่ที่บริเวณแม่น้ำริโอนิโกร (RioNegro) ในประเทศบราซิล ปลามังกรดำมีลักษณะคล้ายคลึงกับปลามังกรเงิน แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ลำตัวแบน เกล็ดจะมีสีออกตะกั่ว ยามแสงแดดกระทบจะเห็นเป็นสีน้ำเงินอมแดง ครีบหลังและครีบก้นเป็นสีดำ สายพันธุ์นี้ในปัจจุบันมีราคาค่อนข้างจะสูง เป็นเพราะได้รับความคุ้มครองและถูกจัดไว้เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์

ปลาอราไพม่า หรือ ปลาช่อนยักษ์ (Arapaima) ปลาชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มปลามังกรที่มีขนาดใหญ่กว่าปลามังกรมาก ลำตัวมีขนาดใหญ่ บางตัวมีความยาวถึง 10 ฟุต  เกล็ดก็มีขนาดใหญ่ ขอบเกล็ดมีสีแดงสด เมื่อโตเต็มที่ ปลาอราไพม่าจะไม่มีหนวด มีลิ้นที่เป็นกระดูกแข็งและมีฟัน การกินอาหารจะใช้วิธีดูดเข้าปาก


ปลามังกร หรือ อโรวาน่า จากทวีปแอฟริกา

ปลาชนิดนี้จะพบในแอฟริกาเพียงชนิดเดียวเท่านั้น โดยอาศัยกระจายอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำไนล์ แถบส่วนที่กว้างของทวีปไปจนถึงฝั่งตะวันตกของทวีป ปลามังกรแอฟริกาจะมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งขนาดใหญ่ที่สุดที่พบคือ มีความยาวถึง 4 ฟุต ลักษณะลำตัวค่อนข้างจะแบนและกว้าง ส่วนหัวจะหนาและสั้น แล้วมีโค้งเล็กน้อย ลำตัวช่วงหลังกับด้านข้างจะมีสีน้ำเงินอมดำ น้ำตาลอมเทา น้ำตาลอมแดง หรือน้ำตาลอมเขียว สีที่พบจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ปลาอาศัย จงอยปากจะสั้นกลม ปากมีขนาดเล็ก มีฟันเต็มปาก ไม่มีหนวด ครีบหางมีขนาดเล็กลักษณะกลม ครีบอกจะอยู่ค่อนไปทางด้านล่างลำตัว ที่บริเวณหัวไม่มีเกล็ด  

ปลามังกร หรือ อโรวาน่า จากทวีปออสเตรเลีย

ปลามังกรชนิดนี้ได้เข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 มีอยู่ 2 ชนิด คือ

  • Northern Saratoga หรือ Australian Pearl Arowana พบที่ ออสเตรเลียเหนือ และ ที่ หมู่เกาะนิวกินี ในอินโดนีเซีย ปลามังกรชนิดนี้จะมีรูปร่างคล้ายคลึงกับปลามังกร จากทวีปเอเซียมาก ขนาดตัวที่โตเต็มที่จะมีความยาว 90 เซนติเมตร เกล็ดมีขนาดเล็กกว่าปลามังกร จากทวีปเอเซีย ขอบเกล็ดจะมีสีออกส้มเหลือบเขียวและมีลักษณะรูปพระจันทร์เสี้ยว
credit : arobeauty.blogspot (Australian Pearl Arowana)
  • Spotted Saratoga หรือ Australian Spot Arowana ถิ่นกำเนินอยู่ที่ รัฐควีนสแลนด์ ในลุ่มแม่น้ำ Dawson ปลามังกรชนิดนี้ จะมีลักษณะยาวเรียว สันหลังตรง ลำตัวด้านหลังและด้านข้างมีสีน้ำตาล น้ำตาลอมเขียว หรือเหลืองอมเขียว เกล็ดมีขนาดใหญ่ บนเกล็ดจะมีจุดสีส้มอมแดง ครีบหลังและครีบก้นมีสีเหลืองอ่อน ขอบครีบจะมีสีเข้มเกือบดำ
credit : fishmanman (Australian Spot Arowana)






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคนิคการเลี้ยงปลามังกร

อาหารสำหรับอะโรวาน่า

การเลี้ยงกุ้งเครฟิช