เลี้ยงปลามังกรให้สวยสุขภาพดี

 

เลี้ยงปลามังกรให้สวยสุขภาพดี

ลำดับต่อไป การเลี้ยงปลามังกรให้สวยคุณภาพคับแก้วแถมด้วยสุขภาพดี โดยเราได้ศึกษาจาก คัมภีร์ Arowana From arohouse มีเคล็ดที่ไม่ลับง่ายๆ เลย ก่อนอื่นจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลามังกรให้ดีและมีคุณภาพ อาทิเช่น  

เตรียมอุปกรณ์

  • ตู้ปลา การเตรียมตู้ปลาปลามังกรควรจะมีขนาดขั้นต่ำ ยาว 60 นิ้ว กว้าง 24 นิ้ว ลึก 24 นิ้ว ความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตรขึ้นไป ที่ต้องใช้ตู้ขนาดใหญ่ตั้งแต่เริ่ม เพราะปลามังกรเติบโตไว อัตราเฉลี่ยการเติบโตเดือนละประมาณ 1 นิ้ว ไปจนปลามีอายุประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปี 6 เดือน การเติบโตจึงจะชะลอลง เมื่อซื้อตู้ปลามาใหม่ควรจะล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 รอบ เป็นการทำความสะอาดและตรวจเช็กกาวหรือซิลิโคนในตู้จะไม่ละลายเจือปนกับน้ำที่จะใช้เลี้ยงปลา นอกจากนี้ ตู้ปลาควรจะมีระบบกรองที่ดีด้วย
  • น้ำ ในการเลี้ยงปลามังกร เรื่องน้ำเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้น หากจะใช้น้ำประปาจะต้องผ่านการกรองด้วยเครื่องกรองคลอรีน หรือ กรองด้วยคาร์บอน (ถ่านกะลา เท่านั้น) ไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง หรือทิ้งน้ำไว้อย่างน้อย 3 วัน เพื่อเป็นการกำจัดคลอรีนในน้ำ แล้วถ้าจะใช้น้ำบาดาลควรกรองน้ำด้วยทั้งคาร์บอนและเรซิน เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค น้ำที่ห้ามใช้เลี้ยงปลามังกรเป็นจำพวกน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ ได้แก่ น้ำที่มีฤทธิ์เป็นด่างสูง น้ำฝน น้ำบาดาล(ที่ไม่ได้กรอง) น้ำสกปรก นอกจากนี้ ควรจะมีปั๊มน้ำกับปั๊มออกซิเจน สำหรับการไหลเวียนของน้ำและช่วยบำบัดน้ำ แล้วควรทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำ 20-30% ทุกเดือน เพื่อช่วยให้ปลาสดชื่นอยู่เสมอ
  • อุณหภูมิของน้ำ เนื่องจากปลามังกรเป็นปลาน้ำจืดเขตร้อน อุณหภูมิของน้ำที่จะใช้เลี้ยงควรจะมีอุณหภูมิที่พอเหมาะเหมือนน้ำตามธรรมชาติ คือ ประมาณ 28-31 องศาเซลเซียส แต่ไม่ควรจะให้อุณหภูมิของน้ำต่ำกว่านี้มากเกินไปจะทำให้ปลากินอาหารได้น้อยและไม่สบายได้ หากเลี้ยงปลาในห้องแอร์ควรจะมี Heater สำหรับปรับอุณหภูมิน้ำไม่ให้ลดต่ำมาก
  • ระบบสำรองไฟ เป็นสิ่งจำเป็นอีกตัวหนึ่งในการเลี้ยงปลามังกรที่ควรจะมีไว้ติดบ้าน หากเกิดเหตุไม่คาดฝันก็จะไม่ทำให้ปลามีอันตรายถึงแก่ชีวิต
  • สภาพแวดล้อม การจัดสภาพแวดล้อมภายในตู้ปลาควรจะทำให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด เพื่อปลาจะไม่ตื่นกลัวและกินอาหารได้เป็นปกติ แต่ไม่ควรจะมีก้อนหินก้อนใหญ่ เพราะอาจจะทำให้ปลามังกรบาดเจ็บได้

อาหารที่ควรให้

การเลี้ยงปลามังกรนั้น เรื่องอาหารก็สำคัญนัก อาหารสำหรับปลามังกร ได้แก่

  • ไรน้ำนางฟ้า เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูงถึง 65% เมื่อปลาได้กินก็จะโตเร็ว และก็มีคาร์โบไฮเดรตสูงด้วยจึงให้ได้รับพลังงานที่สูง ซึ่งจะทำให้ปลามีความกระฉับกระเฉง นอกจากนี้ ไรน้ำนางฟ้ายังมีไขมันต่ำ ทำให้ปลามีสุขภาพดีไม่อ้วนไม่ขี้โรค แล้วก็ยังมีเบต้าแคโรทีนมากกว่าอาหารชนิดอื่นที่จะทำให้ปลามังกรมีสีสันสวยคงเดิมแถมทำให้ปลามีอายุยืนด้วย
  • หนอนนกและแมลงต่างๆ เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ปลากินง่าย และชอบกิน
  • กุ้งฝอย เป็นอาหารที่นิยมให้ปลามังกรกินมาก เนื่องจากหาง่าย ปลาชอบกิน กุ้งฝอยจะทำให้สีสันของปลามังกรสวยงาม
  • ลูกปลาหรือปลาตัวเล็ก จำพวกปลาสอด ปลาหางนก ปลากัด ปลาทอง การให้ลูกปลาจะทำให้ปลามังกรโตเร็ว สีสันสวยงาม มีความกระตือรือร้น
  • สัตว์เลื้อยคลาน ประเภท จิ้งจก ตุ๊กแก สัตว์พวกนี้ปลามังกรชอบกินมาก แต่อาจจะหาได้ไม่มากนัก และไม่มีขายตามท้องตลาด
  • เนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อกุ้ง เนื้อปลา หากจะให้เนื้อเหล่านี้ควรจะล้างทำความสะอาด เพื่อกำจัดไข่พยาธิและสิ่งสกปรกต่างๆ แล้วต้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ จะทำให้กลืนง่าย
  • ใส้เดือนดิน อาหารตัวนี้จะเป็นตัวช่วยเร่งฮอร์โมน สำหรับใช้ในฤดูผสมพันธุ์

อยากทำฟาร์มปลามังกรต้องเริ่มยังไง

ได้ข้อมูลหลายๆ อย่างกันไปแล้ว ทีนี้มาดู การทำฟาร์มปลามังกรพอสังเขปจะเป็นอย่างไรบ้าง การจะเลี้ยงหรือเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งๆ เหนือสิ่งอื่นใดเลยคือ ต้องมีความชอบความรักเป็นพื้นฐาน เนื่องจากหากไม่มีสองสิ่งนี้อาจจะขาดความมุ่งมั่นและอดทนก็เป็นได้ ถัดจากนั้นคงจะเป็นเรื่องของทุนที่ควรมีมากพอสมควร เพื่อจะได้มีปัญหาน้อยที่สุด แล้วจึงจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ เสาะหาข้อมูลความรู้ รวมไปถึงการลงมือทำแบบที่เรียกว่า เรียนรู้ไป ลองผิดลองถูกไป

ในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลามังกร ตามมาตรฐานสากลจะต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะสภาพแวดล้อมในฟาร์ม บ่อเพาะพันธุ์ โรงเรือนอนุบาลลูกปลา และโรงเรือนอาหารปลา นอกจากนี้ ฟาร์มควรจะศึกษาเรื่องข้อกำหนดในอนุสัญญา CITES และเรื่องใบอนุญาตต่างๆ ในเมืองไทย เพื่อทำให้เป็นธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย จะได้สบายใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

สำหรับเทคนิคการเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์จำหน่าย มีสิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุด ได้แก่ การจัดการพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยเน้นที่ความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อลูกปลาจะได้มีคุณภาพ ดังนั้น การเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์จึงควรเลี้ยงในบ่อดิน เพราะจะผลิตลูกปลาได้เกือบทุกเดือนในปริมาณมาก ซึ่งดีกว่าการเลี้ยงใบ่อซีเมนต์ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนได้ดีด้วย

ด้านการอนุบาลลูกปลามังกร เรื่องความหนาแน่นถือเป็นปัจจัยสำคัญ โดยได้นำข้อมูลจาก คุณสุวีณา บานเย็น, คุณนพดล จินดาพันธ์ และ คุณสุธาทิพย์ ทิพย์วงศ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎรธานี ที่ได้อธิบายเกี่ยวกับความหนาแน่นของน้ำในการเลี้ยงปลามังกรมาอธิบายให้ทุกคนได้เข้าใจกัน เนื่องจากการปล่อยลูกปลาในบ่ออนุบาลจะมีผลต่อการเจริญเติบโต ถ้าปล่อยลูกปลาจำนวนที่เหมาะสมก็จะทำให้ลูกปลามีการเจริญเติบโตรวดเร็วและรอดตายดีกว่าการปล่อยลูกปลาจำนวนมากๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ เมื่อลูกปลามีจำนวนมากความหนาแน่นในบ่ออนุบาลก็จะมาก มันจึงทำให้สภาพที่อยู่คับแคบลง แย่งอาหาร กินกันเอง หรือน้ำอาจจะเน่าเสียจากการขับถ่าย

โรคหรือตำหนิที่เกิดในปลามังกรพร้อมวิธีรักษา

ถัดไปเป็นเรื่อง โรคหรือตำหนิที่มักจะเกิดกับปลามังกรรวมถึงวิธีการรักษาและข้อควรรู้ควรระวัง มีดังนี้

โรคเหงือก ถือเป็นโรคยอดฮิตที่จะเกิดกับปลามังกร มีอยู่ 4 แบบ คือ โรคเหงือกอ้า หรือเหงือกบาน โรคเหงือกหุบ โรคเหงือกพับ และโรคเหงือกบุ๋ม สาเหตุของโรคนี้มีที่มาไม่แน่นอน แต่มักเกิดจากน้ำที่มีค่า pH สูงหรือต่ำเกินไป รวมไปถึงไม่ดูแลตู้ปลา ทำให้มีของเสียเยอะ ไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำ ออกซิเจนในตู้มีไม่เพียงพอ และอุณหภูมิของน้ำสูงหรือต่ำเกินไป

  • วิธีการรักษา ปลามังกรถ้าเป็นโรคเหงือกแล้วจะการรักษาทำได้ยาก เพราะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้เฉพาะในระยะเริ่มแรกเท่านั้น หากเป็นหนักอาจต้องทำศัลยกรรม หรือหากรักษาไม่ได้ก็จะเป็นรอยตำหนิถาวรไปเลย  

โรคตาตก คือการที่มีไขมันในเบ้าตามากทำให้ดันลูกตาตกลง สาเหตุของโรคสันนิษฐานได้ว่าเกิดจาก…

  1. ให้อาหารที่มีไขมันมากเกินไป
  2. ให้เหยื่อเป็นจำพวก “กุ้งฝอย” ไม่ใช่เกิดจากการกินกุ้งฝอย แต่เกิดจากการที่ปลามองหากุ้งฝอยที่บริเวณพื้นตู้เป็นเวลานานจึงทำให้มีอาการตาตก
  3. เลี้ยงปลาในตู้เปลือย คือ ไม่มีอะไรในตู้ปลาเลย อาจจะทำให้พื้นตู้มีการสะท้อนเงาของตัวปลา เมื่อปลามองบ่อยๆ ก็จะทำให้ตาตกได้
  4. เกิดจากกรรมพันธุ์ ปลามังกรที่เป็นโรคตาตกจากกรรมพันธุ์ ส่วนมากจะมีอาการตั้งแต่ตัวเล็กๆ ขนาดลำตัวประมาณ 6 นิ้ว ก็เป็นแล้ว
  • วิธีรักษา มีคุณหมอท่านหนึ่งได้ทำการรักษาโรคตาตกให้แก่ปลามังกร ด้วยวิธีดึงหนังตาขึ้นแบบที่รักษา โรคหนังตาม้วนเข้าในสุนัข ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลและทำให้ปลาได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด คุณหมอยังบอกอีกว่า สิ่งสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้ปลาเกิดอาการตาตก คือ การเลี้ยงแบบปิดตู้ด้านข้างเป็นช่วงเวลา เพื่อให้กล้ามเนื้อลูกตาของปลาได้มีการพักบ้าง

โรคหนวดปลาหมึก จัดเป็นโรคยอดฮิตอีกโรคหนึ่ง ปลามังกรที่เป็นโรคนี้จะมีหนวดหงิกงอและมีตุ่มขึ้น ดูเหมือน “หนวดปลาหมึก” สาเหตุของโรคเกิดจาก อุณหภูมิน้ำที่ร้อนเกินไป (ส่วนมากจะเป็นในฤดูร้อน) ตู้ปลาสกปรกมีคราบมาก และจะเป็นกับปลาที่มีนิสัยชอบเล่นหน้าตู้โดยใช้ปากถูไถกับตู้บ่อยๆ

  • วิธีการรักษา การรักษาโรคนี้ไม่ยากนัก เพียงดูแลรักษาความสะอาด คอยเปลี่ยนน้ำตามที่ควร ปลาจะมีอาการดีขึ้น แต่หากปลามีอาการหนักก็ให้ล้างหนวดด้วย “ด่างทับทิม” แต่วิธีนี้ค่อนข้างอันตราย จะต้องวางยาสลบปลาและต้องผสมน้ำกับด่างทับทิมไม่ให้เข้มข้นจนเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นด่างทับทิมจะกัดหนวดขาดได้ ดังนั้น ควรจะทำการรักษาในระยะเริ่มแรกจะง่ายและดีที่สุด

โรคริดสีดวง ลักษณะของโรค คือ จะมี “ติ่งสีชมพูอมแดง” ยื่นออกจากช่องทวาร เมื่อเกิดขึ้นจะทำให้ปลาขับถ่ายลำบาก สาเหตุของโรคนี้มักเกิดจากระบบขับถ่ายของปลามังกรไม่ดี เวลากินอาหารชิ้นใหญ่หรือย่อยยากเป็นจำนวนมากก็จะทำให้การขับถ่ายมีปัญหา

  • วิธีการรักษา เป็นโรคที่ไม่เป็นอันตรายมากนัก สามารถรักษาให้หายได้ โดยการเปลี่ยนอาหารที่สามารถย่อยง่าย ชิ้นเล็ก อย่างเช่น หนอนนก กุ้งฝอย หรือจิ้งหรีด หากเปลี่ยนอาหารเหล่านี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็ให้ใช้ตัวอ่อนของหนอนนก หรือที่เรียกว่า “หนอนขาว” กินไม่นานริดสีดวงก็จะหาย แต่ก็สามารถกลับเป็นได้อีก  ถ้าหากปลาเป็นมากจะต้องวางยาสลบ แล้วตัดริดสีดวงทิ้ง และใช้วิธีให้อาหารย่อยง่ายต่อเนื่องก็จะทำให้อาการดีขึ้น

โรคจุดขาว เป็นโรคที่เกิดจากปลาเหยื่อ หรือติดจากปลาที่อยู่ในตู้เดียวกัน อาการจะมีจุดสีขาวขึ้นตามเกล็ดและครีบ ถ้าปลามังกรมีอาการนี้ให้แยกปลาตัวอื่นโดยเร็ว

  • วิธีรักษา ใช้ “เกลือ” ในปริมาณเข้มข้นและเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ ถ้าเป็นมากให้ใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะโรคที่มีขายตามท้องตลาด

โรคเกล็ดพอง ส่วนมากเกิดกับปลามังกรขนาดเล็กไม่เกิน 8 นิ้ว สาเหตุมาจากน้ำสกปรกและมีของเสียในน้ำมากรวมถึงน้ำมีอุณหภูมิเปลี่ยนฉับพลัน อาการ “เกล็ดจะเปิดอ้าออก” โรคนี้ค่อนข้างจะอันตรายสามารถทำให้ปลาตายได้ ดังนั้นควรจะรีบทำการรักษา

  • วิธีรักษา ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ คือ ยาแก้อักเสบ ชื่อ “อะม๊อกซิล” ตัวเดียวกับที่คนใช้ โดยก่อนจะใช้ยาควรเปลี่ยนน้ำ 30% แล้วใช้ยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม ต่อ น้ำ 1 ลิตร ให้ทำแบบนี้ทุกวัน ปลาจะมีอาการดีขึ้นใน 1 อาทิตย์

โรคเกล็ดกร่อน สาเหตุเกิดจาก เกล็ดติดเชื้อกลุ่มปรสิตหรือแบคทีเรียในน้ำ ปลาขาดวิตามิน คุณภาพของน้ำกับระบบกรองไม่ดี ปลาอยู่ในน้ำมีค่า pH 8-9 ขึ้นไปเป็นเวลานาน  อาการมีดังนี้ ขอบปลายเกล็ดจะขรุขระ แหว่งไม่โค้งเรียบ ควรจะรักษาตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อป้องกันเกล็ดกร่อนทั้งหมด

  • วิธีรักษา ทำความสะอาดตู้ปลาให้อากาศถ่ายเทสะดวก, ควบคุมอุณหภูมิน้ำไว้ที่ 30-31 องศาเซลเซียส ตลอดการรักษา, ใช้ UV เปิด 24 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ, ถ้าปลามีอาการหนักหรือลุกลามมาก ให้ใช้ฟอร์มาลินหรือฟอร์มัลดีไฮด์ ปริมาณ 20 cc ต่อ น้ำ 1000 ลิตร ก่อนใส่ควรจะเปลี่ยนน้ำใหม่ประมาณ 15% ทุกครั้ง, หากทำวิธีข้างต้นแล้ว แต่เกล็ดไม่สามารถจะซ่อมแซมตัวเองได้ ก็นำไปหาสัตวแพทย์ทำการถอดเกล็ด

โรคแผลอักเสบ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในซอกเกล็ดของปลามังกร หรือเกิดจาการทะเลาะกันของปลาและอาหารไม่ย่อย อาการ คือ ปลาจะมีรอยจ้ำเลือดแดงๆ หรือสีน้ำตาล

  • วิธีรักษา การรักษาจำเป็นจะต้องวางยาสลบปลา แล้วทำการถอดเกล็ดออก จากนั้นใช้ยาเหลืองทาที่รอยแผล

โรคเชื้อรา เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยกับปลามังกร จะมีลักษณะเป็น “รอยด่าง” หรือ “รอยเปื่อย” ตามจุดต่างๆ เช่นครีบเครื่อง หัว หาง คาง แก้ม ลำตัว โรคเชื้อรานี้แม้จะไม่อันตราย แต่ก็ทำความรำคาญให้กับปลา แล้วถ้าเป็นหนักอาจมีโรคแทรกซ้อนที่อันตรายได้ สมควรรีบทำการรักษา

  • วิธีรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะที่ชื่อ “ฟังกัส” สามารถหาได้ตามร้านทั่วไป โดยใช้ยา 1 เม็ด ต่อ น้ำ 100 ลิตร

โรคตาขุ่น โรคนี้เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ ติดเชื้อจากกรณีที่ตาบาดเจ็บ และ น้ำสกปรกมากๆ มีคราบของเสียในตู้ปลาจำนวนมาก จนทำให้ปริมาณออกซิเจนน้อยลง  ลักษณะอาการของโรค ปลาจะมีแก้วตาเป็นสีขาวขุ่น ไม่เห็นลูกตาดำ ความรุนแรงของโรค มี 3 ระดับ คือ ตาขุ่นใสเหมือนเนื้อลำใย ตาขุ่นแบบตาปลานึ่ง และขุ่นทั้งลูกตา หรือ ตาเป็นเงาะ

  • วิธีการรักษา ให้ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อยขึ้นแบบวันเว้นวัน จะทำให้ปลามังกรมีอาการดีขึ้น หากมีอาการหนักให้ใช้ยาแก้อักเสบชนิดเดียวกับที่ใช้ในโรคเกล็ดพอง และก็ทำวิธีการเดียวกันได้เลย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคนิคการเลี้ยงปลามังกร

อาหารสำหรับอะโรวาน่า

การเลี้ยงกุ้งเครฟิช